เกร็ดความรู้เรื่องกฎอัยการศึก

๑. กล่าวนำ

จาก กรณีที่ได้เกิดเหตุการณ์ไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในช่วงวันที่ ๕-๖ มกราคม ๒๕๔๗ และสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน จนเป็นเหตุให้รัฐบาลต้องสั่งให้แม่ทัพภาคที่ ๔ ประกาศใช้กฎอัยการศึกในเขตพื้นที่อำเภอต่างๆ ของ ๓ จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานียะลา เมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๔๗ นั้น ทำให้เกิดประเด็นที่น่าสนใจว่า กฎอัยการศึกเกี่ยวข้องกับกฎหมายอย่างไร มีความสำคัญหรือความจำเป็นต่อราชการทหารอย่างไร และเมื่อได้ประกาศให้ใช้กฎอัยการศึกแล้ว จะทำให้ทหารมีอำนาจหน้าที่เพิ่มขึ้นอย่างไร และเมื่อได้ประกาศให้ใช้กฎอัยการศึกแล้ว จะทำให้ทหารมีอำนาจหน้าที่เพิ่มขึ้นได้อย่างไร ดังนั้น กองพระธรรมนูญ กรมสารบรรณทหาร ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของกองบัญชาการทหารสูงสุด ขอถือโอกาสนี้นำเกร็ดความรู้เรื่องของกฎอัยการศึกมาเสนอเพื่อจะได้ใช้เป็น ข้อมูลสำหรับการศึกษาค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมต่อไป

๒. เจตนารมณ์ของการมีกฎหมายเรื่องกฎอัยการศึก

จาก ประสบการณ์ในอดีตของประเทศไทย จะพบว่าเมื่อมีการปฏิวัติรัฐประหารแล้ว จะมีการประกาศให้ใช้กฎอัยการศึกอยู่เป็นประจำทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีใน สายตาของนักประชาธิปไตยว่า กฎอัยการศึกเป็นเครื่องมือของระบอบเผด็จการและเป็นสัญลักษณ์ในการที่ทหารจะ เข้ามายึดอำนาจบ้านเมือง แต่แท้ที่จริงแล้ว การมีกฎอัยการศึกไว้นั้นมีเจตนารมณ์เพื่อให้เป็นเครื่องมือ หรือมาตรการทางกฎหมายในการที่จะรองรับอำนาจของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ที่จะรักษาความมั่นคงของประเทศชาติเมื่อยามคับขัน และจำเป็นที่ไม่อาจใช้หน่วยงานของฝ่ายพลเรือน จึงต้องใช้หน่วยงานทหารที่มีสมรรถภาพดีกว่าในการ แก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งเรื่องนี้จะเห็นได้จากคำบรรยายในกฎเสนาบดี๑ ที่บรรยายความถึงความสำคัญและความจำเป็นของการที่ต้องมีกฎอัยการศึกความว่า “เหตุ ที่จะต้องเรียกว่ากฎอัยการศึกนั้นเพราะเหตุว่ากฎหมายนี้จะประกาศใช้ได้แต่ เฉพาะเวลามีสงคราม หรือการจลาจล หรือมีความจำเป็นที่จะรักษาความเรียบร้อยให้ปราศจากภัย” และ การที่มีพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกขึ้นไว้ในเวลาปกติเช่นนี้ก็เพื่อสำหรับวาง แผนการรักษาพระราชอาณาจักรทั่วไป หรือส่วนใดส่วนหนึ่ง ด้วยอำนาจและกำลังทหารสำหรับตระเตรียมการณ์ไว้พร้อมเมื่อมีตุจำเป็น ก็ปฏิบัติได้ทันที กฎอัยการศึกจึงถือเป็นกฎหมายในยามศึกสงคราม โดยเป็นระบบกฎหมายพิเศษที่มีไว้ใช้ในยามที่ประเทศอยู่ในภาวะวิกฤติและมีความ จำเป็นต้องจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนลงไปบ้าง ทั้งนี้ ทั้งนั้น ก็เพื่อความมั่นคงของราชอาณาจักร

๓. ความเป็นมา

กฎ อัยการศึกเป็นระบบกฎหมายที่มีต้นกำเนิดมาช้านานแล้ว มีการใช้แพร่หลายทั้งในประเทศทางแถบยุโรปรวมทั้งในประเทศไทยด้วย จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า ประเทศไทยได้มีการประกาศให้ใช้กฎหมายเรื่องกฎอัยการศึกในรัชสมัยของพระบาท สมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯรัชกาลที่ ๕ โดยเรียกว่า กฎอัยการศึก รัตนโกสินทรศก ๑๒๖ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ได้ถูกยกเลิกและตราขึ้นใหม่เพื่อให้เหมาะสม ซึ่งกฎหมายที่ประกาศใช้แทนนี้ คือ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก                  พระพุทธศักราช ๒๔๕๗๒ กฎหมายฉบับนี้มีผลใช้บังคับมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมรวมทั้งสิ้น ๕ ครั้ง๓ เพื่อให้กฎหมายฉบับนี้มีความทันสมัยและเหมาะสมกับสภาพบ้านเมืองที่เปลี่ยน แปลงไป เหตุที่คนทั่วไปมักเรียกเพียงสั้นๆว่า กฎอัยการศึก นั้น เข้าใจว่าเนื่องจากในตัวพระราชบัญญัติเองกำหนดให้เรียกกฎหมายฉบับนี้ว่า กฎอัยการศึก พ.ศ.๒๔๕๗ แต่คนส่วนใหญ่เรียกเพียงสั้นๆว่า กฎอัยการศึก

ปัจจุบัน นี้ยังคงมีเขตพื้นที่ที่ยังให้ใช้กฎอัยการศึกอยู่ในเขตอำเภอที่เป็นพื้นที่ ชายแดนรวม ๒๐ จังหวัด ตามประกาศพระบรมราชโองการ๔ ฉบับลงวันที่ ๑๓ พ.ย.๒๕๔๑ จนเมื่อเกิดสถานการณ์การก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้รัฐบาลจึงได้ให้ แม่ทัพภาคที่ ๔ ออกประกาศให้ใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่๕ คือ นราธิวาส เฉพาะ อ.บาเจาะ อ.รือเสาะ อ.ตากใบ อ.สุไหวปาดี อ.ยี่งอ และ อ.สุไหวดก-ลก ปัตตานี เฉพาะ    อ.กะพ้อ และ ยะลา เฉพาะ อ.รามัน ซึ่งเป็นการเพิ่มเติมจากประกาศพระบรมราชโองการเมื่อวันที่ ๑๓ พ.ย. ๒๕๔๑

๔. การประกาศใช้กฎอัยการศึกและการเลิกใช้กฎอัยการศึก

กฎ อัยการศึกนั้นเป็นกฎหมายที่มีลักษณะแตกต่างจากกฎหมายอื่น คือ แม้จะผลบังคับเป็นกฎหมายเพราะได้ตราเป็นพระราชบัญญัติที่เรียกว่า พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ ซึ่งใช้บังคับมานานแล้วก็ตาม แต่การที่จะใช้อำนาจหรือมาตรการต่างๆ ตามที่พระราชบัญญัติได้กำหนดไว้ก็จะต้องอยู่ในบังคับเงื่อนไขคือจะต้องให้ ผู้มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกก่อน โดยจะกำหนดเป้นเขตพื้นที่หรือจะทั่วราชอาณาจักรก็แล้วแต่ดุลยพินิจของผู้มี อำนาจที่จะประกาศ

๔.๑ การประกาศใช้กฎอัยการศึก ผู้มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึก กฎหมายได้กำหนดไว้ดังนี้

๑. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๒ แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกฯ ซึ่งถือเป็นพระราชอำนาจของพระองค์ที่แม้แต่รัฐธรรมนูญก็รับรองไว้ (รัฐธรรมนูญมาตรา ๒๒๒)๖ การประกาศในกรณีนี้จะทำเป็นประกาศพระบรมราชโองการ และอาจจะประกาศให้ใช้กฎอัยการศึกได้ทั่วราชอาณาจักร หรือเฉพาะเขตพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งก็ได้ เหตุที่จะประกาศใช้กฎอัยการศึกในกรณีนี้ กฎหมายได้กำหนดไว้ว่า “เมื่อเวลามีเหตุอันจำเป็นเพื่อรักษาความเรียบร้อยปราศจากภัย ซึ่งจะมีมาจากภายนอกหรือภายในพระราชอาณาจักร...” และในประกาศดังกล่าวอาจจะกำหนดให้ใช้อำนาจในกฎอัยการศึกในทุกมาตราหรือบางมาตราหรือข้อความส่วนใดส่วนหนึ่งของมาตราก็ได้

๒. ผู้บังคับบัญชาทหาร ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๔ ซึ่งแบ่งได้เป็น ๒ กรณี คือ กรณีแรก ผู้บังคับบัญชาทหาร ซึ่งมีกำลังทหารอยู่ในบังคับไม่น้อยกว่าหนึ่งกองพัน กรณีสอง เป็นผู้บังคับบัญชาในป้อมหรือที่มั่นอย่างใดใดของทหาร ผู้บังคับบัญชาทหารที่จะประกาศใช้กฎอัยการศึกตามมาตรา ๔ นี้ กฎหมายให้มีอำนาจประกาศให้กฎอัยการศึกได้เฉพาะแต่ในเขตอำนาจหน้าที่เท่านั้น และเมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึกแล้วก็จะต้องรีบรายงานให้รัฐบาลทราบโดยเร็วที่ สุด๗

๔.๒ การเลิกใช้กฎอัยการศึก ตามบทบัญญัติในมาตรา ๕ การที่จะเลิกใช้กฎอัยการศึก จะทำได้เพียงทางเดียวคือต้องมีประกาศกระแสพระบรมราชโองการเท่านั้น

๕. ผลของการประกาศใช้กฎอัยการศึก

เมื่อมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกแล้ว จะทำให้มีผลในทางกฎหมายหลายประการที่พอจะสรุปได้ดังนี้

๑. เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน ในกรณีนี้เป็นไปตามบทบัญญัติในมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอยู่เหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนใน ๓ เรื่อง คือ เรื่องที่เกี่ยวกับการยุทธ เรื่องที่เกี่ยวกับการระงับปราบปราม หรือเรื่องที่เกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อย โดยกฎหมายกำหนดให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนต้องปฎิบัติตามความต้องการของเจ้า หน้าที่ฝ่ายทหาร

๒. อำนาจในการพิจารณาคดีของศาล ตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก ในมาตรา ๗ โดยทั่วไปแล้วในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกยังคงให้ศาลพลเรือน(ในปัจจุบัน นี้น่าจะหมายถึง ศาลยุติธรรมและศาลปกครอง) มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ตามปกติเว้นแต่ผู้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญา บางประเภทที่ได้กำหนดไว้แล้วในบัญชีต่อท้ายพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก แต่ถ้าคดีอาญาเรื่องใดที่มีเหตุผลพิเศษอันเกี่ยวด้วยความมั่งคงของประเทศ แม้คดีอาญาเรื่องนั้นจะมิได้มีอยู่ในบัญชีต่อท้ายพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก ผู้บัญชาการทหารสูงสุดอาจจะสั่งให้นำคดีอาญาเรื่องนั้นๆ ไปพิจารณาพิพากษาในศาลทหารก็ได้ นอกจากนี้ยังมีข้อน่าสังเกตคือ ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.๒๔๙๘ ได้กำหนดให้ศาลทหารในเขตที่มีการใช้กฎอัยการศึกเป็นศาลทหารในเวลาไม่ปกติ ซึ่งมีผลต่อการพิจารณาพิพากษาคดีอาญา คือ ทำให้การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหารมีเพียงชั้นเดียว จะไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้และผู้มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกอาจจะประกาศ กำหนดให้ศาลพลเรือนทำหน้าที่เป็นศาลทหารได้ด้วย

๓. เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร มีอำนาจในการที่จะตรวจค้น เกณฑ์ ห้าม ยึด เข้าอาศัย ทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่ และขับไล่ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๘ ถึงมาตรา ๑๕ โดยปรากฏตามคำบรรยายในกฎเสนาบดีพอสรุปได้ว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารที่จะมีอำนาจดังกล่าวนั้นมิได้หมายความว่าทหารทุกคนจะมี อำนาจดังกล่าว แต่กฎหมายให้หมายถึงเฉพาะผู้ที่มีอำนาจประกาสให้กฎอัยการศึกเท่านั้น และในทางปฏิบัติเมื่อมีการใช้กฎอัยการศึกแล้ว ผุ้มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกก็อาจจะออกประกาศเพื่อแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ ทหาร หรือเจ้าหน้าที่อื่น เพื่อให้กระทำการต่างๆ ดังกล่าวได้

“การตรวจค้น” เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจในการตรวจค้น ดังนี้

ก. ตรวจค้นบรรดาสิ่งซึ่งจะเกณฑ์ หรือต้องห้าม หรือต้องยึด หรือต้องเข้าอาศัย หรือมีไว้ในครอบครองโดยไม่ชอบกฎหมาย ทั้งมีอำนาจที่จะตรวจค้นได้ไม่ว่าที่ตัวบุคุล ในยายพาหนะ เคหสถานสิ่งปลูกสร้าง หรือที่ใดๆ และไม่ว่าเวลาใดๆ ทั้งสิ้น

ข. ตรวจข่าวสาร จดหมาย โทรเลข หีบห่อ หรือสิ่งอื่นใดที่ส่งหรือมีไปมาถึงกันในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก

ค. ตรวจหนังสือ สิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ ภาพโฆษณา บท หรือคำประพันธ์

“การเกณฑ์” เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเกณฑ์ดังนี้

ก. เกณฑ์พลเมืองให้ช่วยกำลังทหารในกิจการซึ่งเนื่องในการป้องกันพระราชอาณาจักร หรือช่วยเหลือเกื้อหนุนราชการทหารทุกอย่างทุกประการ

ข. เกณฑ์ยวดยาน สัตว์พาหนะ เสบียงอาหาร เครื่องศาตราวุธ และเครื่องมือ เครื่องใช้ต่างๆ จากบุคคลหรือบริษัทใดๆ ซึ่งราชการทหารจะต้องใช้เป็นกำลังในเวลานั้นทุกอย่าง

“การห้าม” เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจที่จะห้ามได้ดังนี้

ก. ห้ามประชาชนมั่วสุม

ข. ห้อมออก จำหน่าย จ่ายหรือแจกซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ ภาพ บทหรือคำประพันธ์

ค. ห้ามโฆษณา แสดงมหรสพ รับหรือส่งซึ่งวิทยุ วิทยุกระจายเสียง หรือวิทยุโทรทัศน์

ง. ห้ามใช้ทางสาธารณะเพื่อการจราจรไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางน้ำ หรือทางอากาศ รวมถึงทางรถไฟ และรถรางที่มีรถเดินด้วย

จ. ห้ามมีหรือใช้เครื่องมือสื่อสารหรืออาวุธ เครื่องอุปกรณ์ของอาวุธและเคมีภัณฑ์หรือสิ่งอื่นใดที่มีคุณสมบัติทำให้เกิด อันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช หรือทรัพย์สิน หรือที่อาจนำไปใช้ทำเป็นเคมีภัณฑ์หรือสิ่งอื่นใดที่มีคุณสมบัติดังกล่าวได้

ฉ. ห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด

ช. ห้ามบุคคลออกยอก เข้าไปหรืออาศัยอยู่ในเขตท้องที่ใด ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเห็นว่าเป็นการจำเป็นเพื่อการยุทธ การระงับปราบปราม หรือการรักษาความสงบเรียบร้อยและเมื่อได้ประกาศห้ามเมื่อใดแล้ว ให้ผู้ซึ่งอาศัยอยู่ในเขตนั้นออกไปจากเขตภายในกำหนดเวลาที่ได้ประกาศกำหนด

ซ. ห้ามบุคคลกระทำหรือมีซึ่งกิจการหรือสิ่งอื่นใดได้ตามที่รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงกลาโหม ได้กำหนดไว้ว่าควรต้องห้ามในเวลาที่ได้มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก

“การยึด” ตาม มาตรา ๑๒ ถ้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเห็นเป็นการจำเป็นจะยึดไว้ชั่วคราวบรรดาสิ่งของตาม มาตรา ๙ มาตรา ๑๐ และมาตรา ๑๑ เพื่อมิให้เป็นประโยชน์แก่ราชศัตรูหรือเพื่อเป็นประโยชน์แก่ราชการทหารก็ กระทำได้

“การเข้าอาศัย” ตามมาตรา ๑๓ เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเข้าพักอาศัยในที่อาศัยใดๆ ที่เห็นว่าจำเป็นจะใช้ประโยชน์ในราชการทหารก็ได้

“การทำลาย”หรือเปลี่ยนแปลงสถานที่ ตามมาตรา ๑๔ กำหนดไว้

ก. ถ้าการสงครามหรือการสู้รบเป็นรองศัตรูให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเผา ทำลายบ้านเรือนและสิ่งของที่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์แก่ศัตรูเมื่อกรมกองทหาร ถอยไปแล้วได้ หรือถ้าสิ่งใดๆ นั้นอยู่ในที่ซึ่งกีดขวางการสู้รบก็ให้ทำลายได้ทั้งสิ้น

ข. มีอำนาจที่จะสร้างที่มั่น หรือดัดแปลงภูมิประเทศ หรือหมู่บ้าน เมือง สำหรับการต่อสู้กับศัตรูหรือเตรียมป้องกันรักษาได้ตามความเห็นชอบของเจ้า หน้าที่ฝ่ายทหาร

“การขับไล่” ตาม มาตรา ๑๕ ได้ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจขับไล่บุคคลผู้หนึ่งผู้ใดซึ่งไม่มีภูมิ ลำเนาอาศัยเป็นหลักฐาน หรือเป็นผู้มาอาศัยในตำบลนั้นชั่วคราวได้ เมื่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีความจำเป็น หรือสงสัยอย่างหนึ่งอย่างใด

“การกักตัวบุคคล” ตาม ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๐๓ ลงวันที่ ๑๓ ธ.ค.๒๕๑๕ ได้กำหนดให้มีมาตรา ๑๕ ทวิ เพิ่มเติมให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจในการกักตัวบุคคลไว้ได้เมื่อเจ้า หน้าที่ฝ่ายทหารมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลนั้นเป็นราชศัตรูหรือได้ฝ่าฝืนบท บัญญัติของกฎหมายเรื่องกฎอัยการศึก หรือคำสั่งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ทั้งนี้ เพื่อการสอบถาม หรือตามความจำเป็นของทางราชการทหารได้ โดยมีระยะเวลากักได้ไม่เกิน ๗ วัน

๖. บทบัญญัติคุ้มครองเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารในการเรียกร้องค่าเสียหายหรือค่าปรับ

โดย ปกติทั่วไปหากเจ้าหน้าที่ไปทำให้เกิดความเสียหายแก่บุคคล หรือเอกชนแล้วก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามหลักฐานในกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกได้ให้ความคุ้มครองเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารซึ่ง ได้กระทำการไปตามหน้าที่โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๘ ถึงมาตรา ๑๕ แม้จะทำให้เกิดความเสียหายแก่บุคคล หรือบริษัทใดๆ (หมายถึงเอกชน) ก็ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายหรือค่าปรับอย่างใดๆ เพราะถือว่าเป็นการกระทำไปเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของชาติศาสนา และพระมหากษัตริย์ นั่นเอง

๗. บทบัญญัติให้อำนาจเจ้ากระทรวง ตามมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก

ได้ ให้อำนาจรัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวง รวมทั้งให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดสามารถออกข้อบังคับเพิ่มเติมเพื่อดำเนินการ ตามวัตถุประสงค์ของกฎอัยการศึกนี้ได้ด้วย ๘

๘.บทส่งท้าย

กฎ อัยการศึกถือเป็นมาตรการทางกฎหมายอันสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งในการรองรับอำนาจ หน้าที่ของฝ่ายทหาร เพื่อให้บรรลุถึงภารกิจในการรักษาความมั่นคงของประเทศชาติจึงได้ให้อำนาจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้อย่างมากมาย อำนาจดังกล่าวมีผลในทางรอนสิทธิของบุคคลที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงเห็นว่าการสั่งการโดยใช้อำนาจของฝ่ายทหารตามกฎอัยการศึกนี้ ควรยึดถือและปฏิบัติอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง ละเอียดรอบคอบ และมีความจำเป็นอย่างแท้จริง ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์สุขของประเทศชาติ

สำหรับ บทความนี้เป็นเพียงการให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายเรื่องกฎอัยการศึก ซึ่งกฎหมายฉบับนี้มีความละเอียดอ่อน และมีความซับซ้อนในการใช้ยากที่จะนำมาบรรยายให้ความเข้าใจได้ทั้งหมดในระยะ เวลาอันสั้น สมควรที่ผู้สนใจและผู้บังคับบัญชาทหารที่จะต้องใช้กฎหมายนี้ได้ศึกษาหาความ รู้เพิ่มเติมต่อไป

(๑) กฎเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ลงวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๔๕๗

(๒) ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๓๑ ลงวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๗

(๓) การแก้ไชกฎอัยการศึก ๕ ครั้ง โดย ๑. พระราชกำหนดแก้ไขกฎอัยการศึก พ.ศ.๒๔๕๗ พุทธศักราช ๒๔๘๕ ๒. พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๔๘๓ ๓. พระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช ๒๔๘๓ พุทธศักราช ๒๔๘๘ ๔. พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๐๒ ๕. ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๐๓ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕

(๔) ประกาศพระบรมราชโองการ เรื่อง เลิกใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่ ลงวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๑๔ (ลงในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๕ ตอนพิเศษ ๑๑๓ ง. ลงวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๑)

(๕) ประกาศกองทัพภาคที่ ๔ เรื่อง การใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่ ลงวันที่ ๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๗

(๖) รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๒๒ บัญญัติไว้ว่า “มาตรา ๒๒๒ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศใช้และเลิกใช้กฎอัยการศึก ตามลักษณะวิธีการตามลักษณะและวิธีการตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องประกาศใช้กฎอัยการศึกเฉพาะแห่งเป็นการรีบด่วน เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารย่อมกระทำได้ตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก”

(๗) หมายเหตุในกรณีที่มีการปฏิวัติแล้ว หัวหน้าคณะปฏิวัติได้ประกาศให้ใช้กฎอัยการศึกนั้น เป็นเรื่องที่เป็นตามทฤษฎีทางกฎหมายของจอห์น ออสติน ซึ่งเป็นนักกฎหมายอังกฤษ โดยมีความคิดเป็นว่าเมื่อมีการปฏิวัติรัฐประหาร หรือการยึดอำนาจรัฐแล้ว ถือได้ว่าผู้ที่ยึดอำนาจนั้นเป็นผู้มีอำนาจอธิปไตยสูงสุดของรัฐ จึงมีอำนาจที่จะประกาศใช้กฎอัยการศึกได้

(๘) ความในมาตรา ๑๗ ใช้ว่า “เจ้ากระทรวงซึ่งบังคับทหาร” หมายถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และคำว่า “กฎเสนาบดี” หมายถึง กฎกระทรวงในปัจจุบัน ส่วนคำว่า “แม่ทัพใหญ่” ตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๐๒ ให้หมายถึงผู้บัญชาการทหารสูงสุด